คอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์
 เลนส์สัมผัส หรือที่เราเรียกกันทับศัพท์ง่ายๆ ว่า คอนแทคเลนส์นั้น เป็นวิวัฒนาการทางจักษุวิทยาที่นำมาใช้แทนแว่นตา ช่วยแก้ปัญหา และขจัดความรำคาญของการใช้แว่นตา เสริมสร้างบุคลิกให้ผู้ที่มีสายตาผิดปกติให้มีความสวยงามเหมือนธรรมชาติ ไม่มีร่องรอยของแว่นตา และทำให้การมองเห็นภาพได้ชัดเจน เสมือนตาปกติโดยไม่ต้องใช้แว่นตา บางครั้งทำให้สะดวก และปลอดภัยในขณะที่เล่นกีฬาแทนการใส่แว่นตา

การใช้เลนส์สัมผัสนั้นเริ่มในราวปี ค.ศ.1930 สมัยก่อนทำด้วยแก้วใส มีลักษณะคล้ายๆ กระจกนาฬิกากลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอาจจะยาวหรือสั้นกว่าตาดำประมาณ 1 ม.ม. มีหลายขนาดแล้วแต่ว่าบริษัทนั้นๆ จะผลิตขนาดไหน โดยทั่วๆ ไปแล้วรูปร่างของเลนส์สัมผัสจะคล้ายๆ กระจกนาฬิกากลมๆ อันหนึ่ง ความโค้ง ความใส ก็คล้ายกระจกนาฬิกาแบบกลม แก้วที่ทำเลนส์สัมผัสนั้นในระยะต่อมาพบว่าคุณภาพไม่ดี จึงมีการคิดค้นใหม่โดยใช้สารตัวหนึ่งชื่อว่า โพลีเมทิลเมทาครัยเลต (polymethymethacrylate) ตัวย่อคือ PMMA แทน สารตัวนี้เป็นพลาสติกใสชนิดพิเศษที่สังเคราะห์ขึ้นมา มีคุณสมบัติดีกว่าแก้วมาก คือ เบา และใส ปฏิกิริยาที่จะเกิดกับดวงตาน้อยกว่าเลนส์ที่ทำด้วยแก้ว

วัตถุที่นำมาทำเลนส์สัมผัสจะต้องเป็นวัตถุที่ทำให้สายตาดีขึ้น ปลอดภัย ไม่เป็นพิษ ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ โดยเฉพาะกับเนื้อเยื่อของดวงตา คงทนพอสมควร สามารถจะให้ก๊าซออกซิเจนหรืออากาศผ่านเข้า-ออกได้ ไม่สลายตัว ไม่เป็นวัตถุที่จับหรือห่อหุ้มต่อเชื้อโรคได้ง่าย และวัตถุนั้นสามารถเปียกน้ำได้ เพราะต้องอยู่กับของเหลว ดวงตาของเรามีน้ำตาหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา และต้องมีน้ำตาหล่อเลี้ยงพอดีๆ ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป ถ้าดวงตามีน้ำตาหล่อเลี้ยงน้อย เมื่อใส่เลนส์สัมผัสเข้าไปจะทำให้รู้สึกระคายเคืองได้ง่าย เกิดอาการผิดปกติ ส่วนคนที่มีน้ำตามากเกินไปทำให้เลนส์สัมผัสลอยตัวหลุดออกมาง่าย ไม่เกาะติดกระจกตา เพราะฉะนั้นคนที่มีน้ำตาแห้งผากและคนที่มีน้ำตามากๆ ไม่เหมาะที่จะใส่เลนส์สัมผัส



ประเภทของเลนส์สัมผัส

คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (hard contact lens) เป็นเลนส์ที่ทำด้วยพลาสติกแข็ง น้ำซึมผ่านไม่ได้เลย
เลนส์ชนิดนิ่ม (soft contact lens) เป็นเลนส์ที่ทำด้วยพลาสติกที่สามารถอมน้ำได้ ตั้งแต่ 35 ถึง 65 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้นิ่มมีรูเล็กๆ และน้ำซึมผ่านได้ ช่วยให้ออกซิเจนสามารถละลายผ่านเข้าไปถึงกระจกตาได้สะดวกขึ้น แต่ก็มีผลเลียที่เลนส์ชนิดนี้ จะจับเอาโปรตีน เยื่อเมือก เกลือแร่ และอนุภาคต่างๆ ที่มีอยู่ในน้ำตาเข้าไว้ในตัวเลนส์ ทำให้เลนส์สกปรกง่าย เป็นฝ้า ชำรุดเกิดอาการแพ้ และระคายเคืองตาได้ จึงต้องคอยระวังรักษาอย่างดี หมั่นทำความสะอาดโดยการใช้ระบบความร้อนทำความสะอาด หรือใช้น้ำยาแช่ทำความสะอาดแทนความร้อน
เลนส์สัมผัสชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง (rigid gas permeable lens) เป็นเลนส์ที่มีคุณสมบัติคล้ายเลนส์ชนิดแข็ง แต่สามารถให้ออกซิเจนผ่านเข้าตาดำได้ดีกว่าสวมใส่สบายตากว่าชนิดแข็ง เป็นการรวมข้อดีของเลนส์ชนิดแข็งและชนิดนิ่มมาไว้ด้วยกัน


เลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม

เลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม (soft contact lens) เป็นชนิดที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันนี้ผลิตจากพลาสติกซึ่งมีคุณสมบัติอมน้ำได้ ทำให้นิ่ม ยืดหยุ่นได้และออกซิเจนผ่านเข้าตาได้ดีผู้สวมใสจะรู้สึกสบายตา มีอายุการใช้งานสั้นกว่าเลนส์ชนิดแข็ง คือประมาณ 1-2 ปี ต้องดูแลรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัดตามที่จักษุแพทย์แนะนำ มิฉะนั้นจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้อ และการแพ้ได้ เลนส์สัมผัสชนิดนิ่มมีหลายชนิดให้เลือกตามที่ต้องการ เช่น

ชนิดที่ถอดล้างทุกวัน (daily wear) เป็นชนิดที่ใช้กันทั่วๆไป
ชนิดที่ใส่ค้างคืนได้หลายๆวัน (extended wear) เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในการล้างทุกวัน เช่น เด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ ที่ต้องอาศัยผู้อื่นถอดใส่เลนส์ให้
ชนิดที่ใส่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (disposable soft contact lens) ระยะที่ใช้งานนาน 1-2 อาทิตย์ อาจใส่ต่อเนื่องโดยไม่ถอดเลนส์เลยหรือใส่ถอดทุกวัน เมื่อครบ 1-2 สัปดาห์ จึงเปลี่ยนคู่ใหม่
ชนิดที่แก้ไขสายตาเอียง (soft tone lens)
ชนิดที่ใช้เปลี่ยนสีตาได้ เพื่อความสวยงาม มีหลายสี เช่น ฟ้า เขียว ม่วง เทา น้ำตาล


เลนส์สัมผัสชนิดแข็ง

เลนส์สัมผัสชนิดแข็ง (Hard Contact lens) ชนิดนี้ทำด้วยพลาสติกแข็ง และใส น้ำซึมผ่านได้ยาก เลนส์ชนิดนี้มีรูปร่างคงที่ มีขนาดเล็กกว่าตาดำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมีตั้งแต่ 7.5-9 มิลลิเมตร มีความหนาประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น มีประโยชน์ในคนที่สายตาเอียงมาก ปกติตาดำจะอาศัยออกซิเจนจากอากาศเพื่อช่วยในการดำรงชีวิตของเซลล์ของตาดำ เมื่อใส่เลนส์สัมผัสชนิดนี้แล้วออกซิเจนไม่สามารถผ่านเลนส์เข้าไปสู่ตาดำได้เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น การใส่เลนส์สัมผัสชนิดนี้จะต้องมีการจำกัดเวลาว่าวันหนึ่งควรจะใส่นานเท่าใด โดยทั่วๆ ไปแล้ว ใส่ติดต่อกันได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง

เลนส์สัมผัสชนิดต่างๆ

หากแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้เลนส์ สามารถแบ่งเป็น 7 ชนิด ได้แก่

ชนิดใช้ใส่ได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ต้องถอดออกเวลาหลับ
ชนิดใส่ได้ติดต่อกันนานเกินกว่า 24 ชั่วโมง
ชนิดที่ผสมสี ใส่เพื่อความสวยงาม
ชนิดที่ใช้ปิดคลุมกระจกตา เพื่อรักษา และป้องกันกระจกตาจากภายนอก จะช่วยให้แผลที่กระจกตาหายเร็วขึ้น
ชนิดที่ใส่เพื่อแก้ไขอาการสายตาเอียง
ชนิดที่ใส่ได้เป็นเวลานาน แต่ใช้ใส่ได้ครั้งเดียว ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
ชนิดที่ใช้ในรายที่มีอาการสายตาสั้น และสายตายาวอยู่ด้วยกัน ซึ่งจะมีจุดโฟกัสต่างกัน ในแต่ละส่วนของการมอง

อ้างอิงจาก http://www.bangkokhealth.com/health/article/%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%8C-1433

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Pages